ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
เรื่อง ฤกษ์ยามที่ดี
วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย
ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังธรรมะปาฐถา อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว
ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี
เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจาก การฟัง ตามสมควรแก่เวลา
วันอาทิตย์เป็นวันหยุดงานฝ่ายกาย เราทั้งหลายก็มาทำงานฝ่ายจิตใจกัน
คือมาศึกษาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา
เพื่อจะได้นำไปเป็นหลักปฎิบัติ ในชีวิตประจำวันต่อไป
เพราะว่าชีวิตกับธรรมะจะต้องอยู่ด้วยกัน แยกออกจากกันไม่ได้
ถ้าแยกตัวชีวิตออกจากธรรมะเมื่อใด ก็เหมือน กับว่าเป็นคนไม่มีชีวิต
ชีวิตจะสมบูรณ์เรียบร้อยก็ต้องมีธรรมะประคับประคองจิตใจเรียกว่ามีชีวิต
เพราะฉะนั้นจึงมีศาสนาว่า ถ้าท่านเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า ท่านก็จะมีชีวิต
คำว่าพระผู้เป็นเจ้าก็หมายถึงธรรมะนั่นเอง
ใครเข้าถึงธรรมะผู้นั้นก็เรียกว่ามีชีวิต
หรือที่พูดว่าเมื่อเข้าถึงธรรมะท่านได้ชีวิต
ชีวิตที่สมบูรณ์ก็ต้องมีธรรมะเป็นหลักประคับประคองใจตลอดเวลา
ทิ้งธรรมะเสียเมื่อใดชีวิตวุ่นวายเมื่อนั้น อันนี้เราจะเห็นได้ง่ายๆว่า
เวลาเรามีความวุ่นวายใจ
มีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจนั้นก็เพราะขาดธรรมะเป็นหลักคุ้มครองใจ
เมื่อไม่มีธรรมะคุ้มครองใจ จิตใจวุ่นวาย
มีความเดือดเนื้อร้อนใจความเดือดเนื้อร้อนใจที่เกิดขึ้นนั้นก็เพราะว่าไม่เข้าถึงธรรมะ
เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าถึงธรรมะความทุกข์หายไป
ความเดือดร้อนทั้งหลายก็คลายจางไป ชีวิตมันสมบูรณ์ขึ้น
เพราะฉะนั้นชีวิตกับธรรมะจึงสิ่งคู่กันแยกออกจากกันไม่ได้
เราทั้งหลายที่มีความเข้าใจในเรื่องนี้ จึงได้แสวงหาธรรมะเป็นหลักครองใจ
และก็ได้เห็นผลของธรรมะว่าให้ความคุ้มครองให้ความสุขแก่ชีวิตของเราอย่างไรบ้าง
ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันหลายประการ
ในแง่ต่างๆเราแก้มันได้ด้วยอะไร
ถ้าที่ประพฤติธรรมก็แก้มันด้วยความรู้ความเข้าใจในธรรมะ เอาธรรมะมาแก้ปัญหา
ชีวิตก็ผ่อนคลายไป พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน อันนั้นคือผลที่ปรากฎอยู่
ความไม่สบายใจนั้นก็เป็นโรคอย่างหนึ่ง เหมือนๆ กับโรคทางร่างกาย
คนเราที่เป็นโรคทางกายต้องกินยาเพื่อรักษาโรคทางกาย ฉันใด
เมื่อมีโรคทางจิตใจกขึ้นมา ก็ต้องใช้ยาแก้โรคทางใจ
ยาแกก้โรคทางกายนั้นเป็นเรื่องทางวัตถุ เพราะว่าร่างกายนี้เป็นวัตถุ
เกิดขึ้นด้วยธาตุมีประการต่างๆการมีโรคทางกายก็เนื่องจากว่า
อะไรบางอย่างขาดไป ความต้านทานก็น้อยไป จึงเป็นเหตุให้เกิดโรคทางกายขึ้นมา
แต่ถ้าหากว่าเราไม่รู้เท่ารู้ทัน โรคนั้นก็จะกำเริบเสิบสาน
ทำให้เราต้องพ่ายแพ้แก่โรค ร่างกายถึงแก่ความแตกดับลงไปได้ ฉันใด
ในเรื่องทางจิตใจนี่ก็เหมือนกันมันมีโรคทางใจเกิดขึ้นบ่อยๆ
โรคทางใจนั้นไม่เหมือนกับโรคทางกาย
คือโรคทางกายมันมีตัวเป็นเชื่อโรคประเภทต่างๆ
ที่เข้ามายึดเอาร่างกายเป็นเรือนของมัน เป็นที่เกิดเป็นที่อาศัย
แล้วก็ทำให้เราต้องพ่ายแพ้ คนใดที่ยังมีกายปกติ ก็หมายความว่า
ความต้านทานทางร่างกายนั้นยังดีอยู่
เมื่อความต้านทางร่างกายยังสมบูรณ์พร้อม เราก็เอาชนะโรคได้
แต่ก็ไม่แน่นักว่าความต้านทานทางกายนี้จะดีหรือสมบูรณ์อยู่ตลอดไป
มันอาจจะเกิดความเพลี่ยงพล้ำขึ้นมาเมื่อใดก็ได้
เพราะฉะนั้นคนบางคนที่เรามองเห็นว่า มีร่างกายเป็นปกติเป็นน้ำเป็นนวล
ร่างกายแข็งแรง แต่ก็เกิดการเจ็บไข้ลงได้ทันที แล้วบางอันนี้
แสดงว่ามันมีเชื่อโรคอย่างแรง เกิดขึ้นในร่างกาย
ทำให้ความต้านทานของร่างกายนั้นสู้ไม่ได้ ก็เลยต้องยอมแพ้มัน
กลายเป็นโรคประจำกายประจำตัวไป
และอาจจะถึงความแตกดับลงไปเมื่อใดก็ได้เรื่องการเรียนรู้ในเรื่องโรคทางกาย
ก็เพื่อจะได้มีการป้องกันแก้ไข ในเมื่อโรคนั้นเกิดขึ้น
เราก็จะได้มีชีวิตเป็นปกติ ไม่วุ่นว่ายมากเกินไป ฉันใด
เรื่องของจิตใจเรานี้ก็เหมือนกัน เมื่อมีโรคทางใจเกิดขึ้น
ก็เพราะว่าเราพ่ายแพ้ต่อสิ่งที่ยั่วยุ คืออารมณ์ประเภทต่างๆ
ที่เข้ามากระทบประสาททั้งห้า คือตา หูจมูก ลิ้นกาย หกรวมทั้งใจด้วย
อันนี้เป็นประตูแห่งโรคทางใจ เพราะว่ามีสิ่งภายนอกมากระทบ
เมื่อมีสิ่งภายนอกมากระทบเข้าแล้ว
เราไม่สามารถจะต่อสู้มันได้เราก็พ่ายแพ้แก่สิ่งนั้น
การพ่ายแพ้ก็หมายความว่า ตกเป็นทาสของสิ่งนั้น เช่นเราตกเป็นทาสของ รูป
เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันเป็นเรื่องของวัตถุเหมือนกัน ที่เขาเรียกว่า
มัวเมาในวัตถุ หลงใหลอยู่ในสิ่งนั้น ไไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น
จิตใจก็วุ่นวายมีปัญหาเกิดขึ้นบ่อยๆ อาจถึงกับเสียผู้เสียคนไปก็ได้
การสูญเสียทางร่างกายนั้น ไม่เป็นการสูญเสียเท่าใด
แต่การสูญเสียทางด้านจิตใจนั่นแหละ
เป็นความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ในชีวิตของเรา
เพราะคนเราถ้าใจมันมันเสียเสียแล้ว อะไรๆก็จะพลอยเสียไปหมด
แม้ร่างกายจะเป็นปกติ แต่ว่าจิตใจมันเสียกำลังไป
คนจะเป็นคนที่สมบูรณ์อยู่ได้อย่างไร กำลังใจจะสูญเสียก็เพราะว่า
ปล่อยตัวปล่อยใจมากเกินไป ในสิ่งต่างๆที่เป็นวัตถุอันเกิดขึ้นกระทบทางจิตใจ
เราไม่สามารถจะเอาสิ่งนั้นได้ ที่ไม่สามารถจะเอาชนะได้นั้น
ก็เพราะว่าไม่มีสติไม่มีปัญญา ตัวสติก็คือตัวธรรมะ ปัญญาก็คือตัวธรรมะ
เราไม่มีธรรมะคุ้มครองจิตใจ เราจึงได้พ่ายแพ้แก่สิ่งเหล่านั้น
แต่ถ้าเรามีสติรู้ทัน มีปัญญารู้เท่าต่อสิ่งนั้น เราไม่พ่ายแพ้แก่อารมณ์
สิ่งใดมากระทบ เราก็ปัดมันไป ปัดทิ้งไปปัดทิ้งไป ไม่ยอมรับสิ่งนั้นไว้
ไม่ยอมรับโดยความไม่รู้ไม่เข้าใจ
แต่ว่าเราจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น ด้วยความรู้ความเข้าใจ
เรียกว่าด้วยความรู้เท่าทัน ถ้าเรารู้เท่าทันต่ออารมณ์
อารมณ์ที่มากระทบก็เหมือนกับคลื่นที่มากระทบฝั่ง มันหายไป
คลื่นที่หายไปนั้นไม่ได้ทำฝั่งให้เสียหาย เช่นเราไปยืนอยู่ที่ชายทะเล
เราก็จะพบว่ามีคลื่นมากระทบฝั่งอยู่ตลอดเวลา
คลื่นที่กระทบฝั่งนั้นมันไม่ได้ทำฝั่งให้เสียหายอะไร กระทบแล้วมันก็หายไปๆ
เราจึงพูดว่าหายไปเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง ที่มันหายไปแบบคลื่นกระทบฝั่งนั้น
ไม่มีความเสียหายมากนัก อารมณ์ต่างๆ
ที่เกิดขึ้นมากระทบจิตใจเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าหากว่าเราไม่รู้เท่าทัน
มันก็ทำให้เราเสียหาย คือทำให้เกิดความรู้สึกรุนแรงในเรื่งอนั้นๆ
ความรู้สึกรุนแรงมันเป็นไปทางรักก็ได้ทางชังก็ได้
ทางหลงก็ได้หรือทางใดทางหนึ่งก็ได้ ถ้ารุนแรงแล้วมันก็วุ่นวายเดือดร้อน
แต่ถ้าเป็นไปแต่พอดีๆ ก็จะไม่เกิดความเสียหายมากเกินไป
อันนี้เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นแก่ใครเมื่อใดก็ได้
ถ้าหากว่าบุคคลนั้นขาดธรรมะ
เป็นเครื่องประคับประคองใจก็จะเกิดปัญหาวุ่นวายกันด้วยประการต่างๆ
ทีนี้อีกประการหนึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นในใจของเรานั้น
มันไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้นดังที่กล่าว แต่ว่ามันก่อให้สิ่งอะไรๆ
ขึ้นต่อไปในใจของเรา ที่เรียกว่าเป็นนิสัย
นิสัยก็คือสิ่งที่เราสร้างมันขึ้นวันละเล็กละน้อยสร้างมันขึ้นเรื่อยๆ
เพิ่มมันขึ้นเรื่อยๆ ในจิตใจของเรา สิ่งที่เราสร้างขึ้นเรื่อยๆ
นั้นถ้าสร้างด้วยความหลง ความเข้าใจผิด
มันก็งอกงามมาเป็นความหลงความเข้าใจผิด
ถ้าเราสร้างมันขึ้นด้วยปัญญามันก็งอกงามขึ้นเป็นปัญญา
ทำให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของเรา
แต่ว่าส่วนมากมักจะสร้างมันขึ้นด้วยความหลง ความเข้าใจผิด
แล้วก็ไปยึดติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น จนกลายเป็นนิสัย
เพราะฉะนั้นคนเราจึงมีนิสัยไม่เหมือนกัน
ที่ไม่เหมือนกันนั้นก็เพราะว่า ไม่มีธรรมะอยู่ในใจ
ถ้าจิตใจที่มีธรรมะแล้วมันเหมือนกันหมด ไม่มีความแตกต่างกัน
เพราะธรรมะเข้าไปปรุงแต่ง พอธรรมะเข้าไปปรุงแต่งใจของใคร
ใจนั้นก็มีสภาพปกติ จิตที่ปกตินั้นคือจิตที่ไม่กระทบด้วยอะไรๆ
มันเป็นจิตที่สะอาดอยู่เพราะไม่มีสิ่งเศร้าหมองเข้ามารบกวน
เป็นจิตทีสว่างเพราะรู้แจ้งในสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง
แล้วก็เป็นจิตที่สงบเพราะอะไรๆ มารบกวนไม่ได้
มันไม่กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง
ไม่มีการเปลี่ยนเป็นนั้นเป็นนี้ไปตามรูปต่างๆ สภาพจิตใจก็เป็นตัวเอง
เรียกว่าสะอาดสว่างสงบ ความสะอาดสว่างสงบนั่นแหละ
เป็นหน้าตาดั้งเดิมของตัวเรา ของจิตใจของเรา
แต่ว่าคนเรามักจะเข้าใจผิด คิดว่าสิ่งที่มาปรุงแต่งนั้นมันเป็นตัวเรา
เป็นเรื่องของเราขึ้นมา เช่นมีความโกรธประจำเป็นนิสัย
ก็นึกว่าตัวริษยานั้นเป็นของตน ไปยึดเอาสิ่งเหล่านี้เข้ามาไว้ในใจ
ก็ทำใจให้มันวุ่นวายไปด้วยประการต่างๆ สร้างปัญหาคือความทุกข์
ความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นในใจ
เพราะหลงผิดไปตู่เอาสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นตัวเรา ความจริงนั้นไม่ใช่
มันเป็นแต่เพียงมายา เครื่องปรุงแต่งที่ทำให้เราเปลี่ยนโฉมหน้า
ไปในรูปต่างๆ อย่างนั้นอย่างนี้ด้วยประการต่างๆ เท่านั้น
เพราะฉะนั้นอย่าได้ไปยึดเอาสิ่งเหล่านั้น ว่าเป็นตัวเราของเราเป็นอันขาด
แต่ให้รู้ว่านั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา
มันเป็นแต่เพียงภาพมายา
ที่มาหลอกเราให้หลงให้เพลิดเพลินไปชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
ถ้าเรารู้เท่าทันอย่างนี้
เราก็จะไม่เสริมสร้างความคิดนึกตรึกตรองของเราในทางเสีย
นิสัยที่ไม่ดีจะไม่เกิดขึ้นในใจ แต่มันจะเป็นตัวเดิมอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า
เป็นตัวเองโดยสมมติ
ที่เราพูดกันว่า เรามันต้องเป็นตัวเองบ้าง แต่ว่าจะเป็นตัวเองในทางเสีย
ไม่ได้เป็นตัวเองในทางที่ถูกต้อง คือไม่เป็นตัวเองแท้ๆ ไม่เป็นตัวเดิมแท้ๆ
แต่มันเป็นตัวอื่นที่ปลอมเข้ามาเป็นตัวเอง
แล้วก็เป็นเหตุให้เกิดปัญหาวุ่นวายขึ้นในจิตใจ ด้วยประการต่างๆ
นี่ก็เพราะว่าไม่มีเกราะป้องกันตัว ธรรมะเป็นเหมือนเกราะป้องกันภัยอันตราย
ไม่ให้เกิดขึ้นกระทบกระเทือนต่อจิตใจของเรา ทำให้สภาพจิตใจของเราสงบสบาย
ญาติโยมทั้งหลายลองคิดดูง่ายๆ ว่าเรานี้ต้องการความสงบหรือไม่
ต้องการความสบายทางจิตใจหรือไม่
ถ้าถามอย่างนี้ทุกคนก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเราต้องการ
แต่ว่าความต้องการนั้นมันถูกหรือผิด มันตรงต่อสภาพที่แท้หรือเปล่า
อาจจะเป็นความต้องการที่ผิดไปก็ได้ เช่นความสุข เราอาจจะเข้าใจความสุข
ไม่ตรงตามความเป็นจริง
ความสบายก็เหมือนกัน เราอาจจะไม่เข้าใจตามความเป็นจริง
เราอาจจะเข้าใจความสุข ในทางที่ต้องการอะไรก็ได้ดังใจ เข้าใจไปอย่างนั้น
ต้องการจะกินอะไรก็ได้กินดังใจ ต้องการจะทำอะไรก็ทำได้ดังใจ
ต้องการจะไปไหนก็ไปตามที่ใจต้องการ
เราอาจจะนึกว่านั่นแหละเป็นความสุขของเรา ความจริงนั้นมันไม่ใช่เป็นความสุข
เพราะว่าสิ่งที่เราได้ตามความต้องการนั้น
มันไม่เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดความสุขได้เสมอไป เพราะอะไร
ก็เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นมันมีการเปลี่ยนแปลง
มันไม่คงทนอยู่ในรูปอย่างนั้นเสมอไป เรามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งในชีวิตของเรา
เช่นเราได้อะไรบางอย่าง สิ่งที่เราได้นั้นมันจะอยู่กับเราตบอดไปหรือไม่
ลองคิดดูว่าชีวิตของเราตั้งแต่หนุ่มมาจนถึงบัดนี้ เราได้อะไรมาบ้างแล้ว
แล้วสิ่งเหล่านั้นมันยังอยู่ไหม หรือว่ามันหายไปแล้ว แล้วเราก็ได้อะไรมาอีก
แล้วมันก็หายไปอีก ตั้งแต่เกิดจนบัดนี้เราสวมเสื้อผ้ากี่ชุดแล้ว
ใช้นาฬิกากี่เรือนแล้ว แหวนกี่วงแล้ว อะไรๆ กี่อย่างแล้ว
แม้บ้านที่เราอยู่อาศัยบางทีก็เปลี่ยนหลายหนแล้ว
บางทีก็รื้อแล้วก็สร้างใหม่อีกแล้ว นี่แสดงว่ามันไม่ได้คงทนถาวร
อยู่ในรูปนั้นตลอดไป แต่ว่ามีการเปลี่ยนสภาพอยู่ตลอดเวลา
ก็สิ่งใดที่มันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างนั้น
มันเป็นสิ่งที่เรียกว่าไหลอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา
ควรหรือที่เราจะไปจับเอาตอนใดตอนหนึ่ง ว่าเป็นตัวแท้เป็นของเราขึ้นมา
ทางที่ถูกก็ไม่ควรไปจับไปฉวยเอาอย่างนั้น
แต่เราควรจะได้มองมันให้เห็นชัดตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ
คือมองให้เห็นว่ามันเป็นแต่เพียงกระแสที่ไหลอยู่ตลอดเวลา
เหมือนกับกระแสน้ำมันไหลไปเรื่อยๆ มันไม่มีหยุดยั้ง
ถ้าเราไปนั่งอยู่ที่ริมคลองริมเหมืองในหน้าฝน
จะเห็นว่าน้ำมันไหลเชี่ยวเป็นเกลียวไป ไม่เคยไหลกลับมา
นั่นคือสภาพความจริงของสิ่งทั้งหลายมันเหมือนกันหมด
ร่างกายของเราเครื่องใช้ไม้สอย อะไรๆ ต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวเรานั้น
มันไม่มีหยุดนิ่งเลยสักอย่างเดียว หยุดนิ่งเมื่อใดมันก็ดับเมื่อนั้น
เพราะการหยุดนิ่ง คือการตายของวัตถุ
วัตถุในหยุดนิ่งมันก็ตายแต่ถ้ายังมีการเปลี่ยนไหลเวียนอยู่แล้วมันก็ยังไม่ตาย
มันยังมีชีวิตอยู่ต่อไป ที่เรียกว่ามีชีวิตก็คือการไหลวนนั่นเอง
ความไหลวนนั้นมันเป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลง เราจะไปจับมันได้หรือ
ล้อรถที่กำลังหมุนใครจะไปจับมันได้
ลมที่กำลังพักแรงใครจะไปจับมันได้ใบพัดที่กำลังหมุนเครื่องจักรนั้นใครจะไปจับมันได้
ขืนจับมันก็ตีมือขาดไปเท่านั้นเอง
เครื่องยนต์กลไกที่กำลังหมุนนั้นอย่าเที่ยวไปแตะเทียว
ขืนไปแตะเข้าจะตายจะวุ่นวายจะเดือดร้อน
อันนี้มันก็เป็นบทเรียนสอนเราอยู่ในตัว
ว่าอย่าไปจับอไรเข้าเพราะมันไม่ยอมหยุดกับเรา
แต่มันจะต้องเปลี่ยนของมันไปตามธรรมชาติ เราจึงควรจะมองในแง่ว่า
มันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เราจะไปจับฉวยเอาได้หรือ
เราจะไปยึดถือเอาสิ่งนั้นว่าเป็นของเราได้หรือ
เราเพียงแต่นึกได้ว่าเรามีสิ่งนั้น สิ่งนี้มันอยู่กับเราในวันนี้
แต่วันต่อไปไม่แน่ว่ามันจะอยู่กับเราหรือไม่ มันจะดีอยู่อย่างนี้หรือไม่
หรือมันจะเปลี่ยนไปในรูปใดอีกเราก็ไม่รู้
เพราะไม่มีอะไรเป็นเครื่องหมายบอกว่าจะเป็นอะไรเมื่อใด
เรารู้ได้แต่เพียงประการเดียวว่ามันไม่เที่ยงไม่แท้
มีการแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาเท่านั้นเอง อันนี้คือสภาพความจริงของชีวิต
เรื่องอื่นๆ ก็เหมือนกัน ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องวัตถุที่เรามองเห็น
แม้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา จะไปยึดถือมั่นว่า
จะต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ก็ไม่ได้ ใครไปยึดมั่นถือมั่นก็เป็นทุกข์
ที่พระท่านบอกว่าอุปาทาน การเข้าไปยึดมั่นในเรื่องใดก็ตาม
ย่อมเป็นทุกข์เพราะเรื่องนั้น คนเราเป็นทุกข์เพราะอุปาทาน
อุปาทานหมายความว่าการไปยึดถือไว้ด้วยความเข้าใจผิด
อย่างนั้นมันก็เป็นความทุกข์ความร้อนใจ เช่นในลัทธิต่างๆ
ในแง่เศรษฐกิจการเมืองอะไรๆ ก็ตาม ถ้าใครไปหลงใหลมัวเมายึดถือเข้า
มันก็วุ่นวาย เขาเรียกว่ามันรุนแรงไปเป็นคนที่เรียกว่ามีความคิดรุนแรง
หัวรุนแรง
ความรุนแรงของความคิดก็เกิดจากความยึดมั่นมากเกินไปในเรื่องนั้น
ถือว่าอันนี้แหละถูกอันอื่นไม่ถูก การคิดอย่างนี้มันชักจะมากไป
แล้วก็ทำให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างบุคคลอื่นๆ
พระพุทธเจ้าสอนเราอย่างไรในเรื่องนี้ พระองค์บอกว่า ตถาคตรู้ทุกอย่าง
แต่ตถาคตไม่ได้ติดอยู่ในความรู้นั้น อันนี้เป็นคำพูดที่สำคัญ
ตถาคตมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องอะไรทุกอย่าง
แต่ตถาคตไม่ได้ติดอยู่ในความรู้นั้น
นั่นแหละเป็นหลักที่ช่วยให้เรามีความสุขทางใจ คือไม่ติดมั่นอยู่ในสิ่งนั้น
เราเพียงแต่เอาสิ่งนั้นมาใช้ ใช้ให้มันเกิดประโยชน์ในทางพ้นทุกข์
ไม่ได้ใช้ให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนใจ เรามีอะไรเราใช้อะไรก็ตาม
ถาเรามีเราใช้สิ่งนั้นจนเป็นทุกข์แล้วก็โง่ละ
เรามันโง่ไปแล้วมีอวิชชาคือความหลงเข้าไปครอบงำจิตใจแล้ว
จึงได้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนใจ อันนี้ขอให้ญาติโยมจำไว้ให้ดี
ว่าในขณะใดที่เรามีอะไรเราเป็นอะไร แล้วเราเป็นทุกข์มันก็ผิดละ แปลว่า
เรามีสิ่งนั้นผิดแล้วจึงได้เกิดความทุกข์เราเป็นสิ่งนั้นผิดแล้วจึงได้เกิดความทุกข์
เราคิดผิดแล้วจึงได้เกิดความทุกข์ขึ้นมา มนุษย์เราไม่ควรจะให้เป็นทุกข์
ไม่ควรจะเป็นให้เป็นทุกข์ ไม่ควรคิดในเรื่องอะไรๆ จนมีความทุกข์
มีความเดือดร้อนใจ เพราะการมีการเป็นในรูปอย่างนั้น เป็นความเขลาแบบหนึ่ง
มันสร้างความวุ่นวายใจสร้างปัญหาขึ้นในชีวิต
ผู้มีปัญญาฉลาดในเหตุผลนั้น จะไม่มีอะไร
ไม่เป็นอะไรที่ให้เกิดทุกข์เกิดร้อนขึ้นมาในจิตใจ
แต่ว่าจะมีมันด้วยปัญญาจะเป็นมันด้วยปัญญา แล้วก็ไม่เป็นทุกข์ทางใจ
เพราะฉะนั้นเครื่องวัดความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของเรานั้น
มันอยู่ที่ว่ามีเป็นหรือว่าเป็นเป็นเช่นนั้นเอง ถ้ามีเป็นแล้วก็ไม่กลุ้มใจ
ถ้ามีไม่เป็นแล้วก็กลุ้มใจ เป็นไม่เป็นก็กลุ้มใจ
ถ้าเป็นเป็นแล้วก็ไม่ต้องกลุ้มใจ ไม่ต้องมีความทุกข์ความเดือดร้อนใจ
อันนี้มันเป็นหลักสำคัญ เราอาจจะทำไม่ได้ในตอนแรกๆ
เพราะว่าปัญญามันยังไม่พอสติมันยังไม่ดี เราก็ค่อยคิดไปปลงไป
นึกไปในทางที่ถูกที่ชอบเรื่อยๆ ไป จิตใจมันค่อยอิสระเสรีขึ้น
ค่อยมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นถูกต้องขึ้น
ทีนี้เมื่อใดจิตใจเรามีเสรีมีความคิดถูกต้อง เราก็เบาใจโปร่งใจ
พอเรารู้สึกว่าเบาใจโปร่งใจในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง
ในสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราแล้ว
เมื่อนั้นแหละเราได้เข้าถึงธรรมะ เรียกว่าเข้าถึงแก่นของธรรมะ
ที่จะช่วยให้เรามีจิตใจสงบ มีความสุขในชีวิตประจำวัน แก่นมันอยู่ที่ตรงนี้
เพราะฉะนั้นญาติโยมต้องเอาคำนี้ไปไว้คอยเตือนตัวเองเสมอ
ว่าเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไรก็ตาม
อย่าเข้าไปเกี่ยวข้องในรู้ที่มันเป็นพิษแก่เรา อย่าให้มันเป็นพิษแก่เรา
แต่เราจะเข้าไปเกี่ยวข้องในรูปที่มันจะไม่เป็นพิษไม่เป็นภัย
มันจะต้องจะทำให้เราเดือดเนื้อร้อนใจอะไรๆ ก็ตาม
ตามปกติมันก็อยู่ตามเรื่องของมัน
แต่ว่าใจของเราที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับมันนั่นแหละ
ทำให้เราเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เหมือนคำพูดที่เขาพูดว่า
สิ่งทั้งหลายมันไม่ดีไม่ชั่ว
แต่ว่ามันดีชั่วที่ใจของเราเข้าไปเกี่ยวข้องต่างหาก
เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับมันในรูปใด มันก็ดีไปอย่างนั้นบ้าง
ชั่วไปอย่างนั้นบ้าง ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ เช่นวันคืนเดือนปี
อันนี้มันไม่ดีไม่ชั่วอะไร ที่เราไปเชื่อหมอดูเขาว่าวันนั้นดีวันนั้นชั่ว
นั่นมันดีชั่วตามแบบหมอเขา ไม่ใช่ตามแบบธรรมะของพระพุทธเจ้า
ถ้าพูดตามแบบธรรมะของพระพุทธเจ้า แล้ว สิ่งทั้งหลายมันไม่ดีไม่ชั่ว
วันคืนมันไม่ดีไม่ชั่ว ไม่มีวันดีไม่มีวันร้าย
มันมีแต่วันคืนธรรมดาที่เปลี่ยนไปตามจักรราศี
วันคืนที่หมุนไปตามจักรราศีนี้มันก็มีเพียงสองอย่างเท่านั้น
คือกลางวันกับกลางคืน กลางวันเพราะมีแสงอาทิตย์
กลางคืนเพราะไม่มีแสงอาทิตย์ เราจึงมีกลางวันกลางคืน กลางวันกลางคืนนี้
มันมีอยู่ตลอดเวลา มันลำบากแก่การที่จะพูดจากัน จึงต้องตั้งชื่อให้มันหน่อย
ตั้งชื่อว่าเป็นวันอาทิตย์ จันทร์ อังคาร ฯลฯ
เอาชื่อเข้ามาตั้งไว้เพื่อจะให้เรียกขานกันง่าย หลายวันก็เป็นสัปดาห์
หลายสัปดาห์ ก็เป็นหนึ่งเดือน เดือนนี้ก็นับตามการโคจรของจันทร์
ข้างขึ้นข้างแรมเรานับกันไปอย่างนั้น
วันนี้นับตามโคจรของดวงอาทิตย์ วันที่หนึ่ง สอง สาม สี่ ฯลฯ
ไปจนครบเดือนหนึ่ง เดือนมันก็มีหลายเดือนก็ต้องตั้งชื่อให้มันหน่อย
ไม่มีชื่อก็เรียกกันยาก ไม่รู้ว่าเดือนไหน วันมันมีแล้ว
แต่เดือนมันไม่มีชื่อก็ลำบาก ครบสิบสองเดือนก็สมมติว่าเป็นปีหนึ่ง
แล้วมันก็มีหลายปีหลายรอบ สิบสองเดือนหลายครั้งก็มาตั้งชื่อให้เขาหน่อย
ปีชวด ฉลู ขาล ฯลฯ ว่ากันไปตามเรื่อง
เพื่อจะให้มันง่ายแก่การนับไม่ใช่เรื่องอะไร เรื่องสะดวกแก่การนัดหมาย
การจดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ว่าได้เกิดขึ้นวันที่เท่านั้นเดือนนั้น ปีนั้น
แล้วปีนั้นเขาก็เอาศักราชไปใส่เข้า ศักราชนั้นเอาตามศาสนา เช่นเราเอา พ.ศ.
ก็นับตั้งแต่วันพระพุทธเจ้าปรินิพพานมา ค.ศ. หรือตามศักราชอะไร
ตามศาสนาของใคร ก็เอามาเป็นเครื่องนัดหมายกันไว้ มันมีเท่านี้
ทีนี้พวกหมอดูเขาเอาไปว่า อันนี้มันดีอันนี้มันไม่ดีขึ้นมา
วันนั้นดีวันนั้นไม่ดี อันนี้ไม่เป็นตามหลักศาสนา
ไปเที่ยวใส่วันดีวันร้ายเข้า ความจริงมันไม่ดีไม่ร้าย
แต่ว่าดีร้ายมันอยู่ที่ตรงไหนมันอยู่ที่การคิดของเราอยู่ที่การคิดการพูดการกระทำของเรา
ถ้าเราคิดดีพูดดีทำดี วันมันก็พลอยดีไปกับเรา เราคิดชั่วพูดชั่วทำชั่ว
วันเวลามันก็พลอยชั่วไปกับเรา ลำพังวันเวลานั้นไม่ดีไม่ชั่ว
แต่ว่ามันดีชั่วเพราะเราทำ
เช่นในชั่วโมงนี้ ญาติโยมมานั่งฟังปาฐกถาธรรม
เวลานี้ดีสำหรับพวกเราที่อยู่ที่นี้
แต่ว่าชั่วโมงนี้มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งไปโห่ไก่สองตัวกำลังตีกันอยู่
เวลานั้นมันก็ไม่ดีสำหรับพวกนั้น
เพราะมันไปเล่นการพนันหรือว่าไปล้อมวงโจ้ไพ่กันอยู่
หรือว่าไปกินเหล้ากันอยู่ หรือว่าไปทำสิ่งเหลวใหลกันอยู่
หรือบางที่อาจจะตีตั๋วเข้าสนามม้าอยู่เวลานี้
วันของคนพวกนั้นมันก็แย่เต็มที มันไม่ดีเพราะไปเล่นการพนัน
ไปเหลวใหลไปประพฤติชั่ว วันก็พลอยชั่วไปกับคนนั้น นี่มันเป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้นลำพังวันเวลานั้นมันไม่ได้ดีไม่ได้เสียอะไร
แต่ว่าเรามันไปยึดสิ่งที่เรียกว่า วิชาหมอดูมากไปหน่อย
แล้วเขาก็ทายไว้อย่างนั้นอย่างนี้ หมอดูบางทีก็เป็นพระนี่แหละ
แต่ว่าทายเวลาไม่เข้าเรื่อง ไม่ค่อยได้เรื่องได้ราวอะไร เผลอบ่อยๆ
ทำเลอะบ่อยๆ เมื่อวานี้เขานิมนต์ไปงานแต่งงาน บอกว่าแต่งงานกรุงเทพฯ
เขาแต่งกันเช้าๆ ทั้งนั้น มันสะดวกรถราไม่ติด
เจ้าบ่าวออกจากบ้านมาก็สะดวกดี ไม่เอาอย่างนั้น ไปเอาเพลโน้น
พระให้ฤกษ์รดน้ำเจ้าบ่าวเจ้าสาวสิบเอ็ดโมงสี่สิบนาที เวลาฉันอาหาร
เจ้าภาพก็ดูนาฬิกาอยู่บ่อย กลัวพระจะฉันเลยเวลาไป แล้วมันจะพ้นฤกษ์ไป
แต่ว่าพระก็ไม่ได้ฉันเลยเวลา เพราะว่าพระฉันไม่นานหรอก
สิบห้านาทีก็ฉันเสร็จแล้ว พอฉันเสร็จแล้วก็ทำเรื่องอื่นไปต่อ
เทศน์ให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวฟัง
พอเทศน์เสร็จก็ไม่ได้ดูว่าสิบเอ็ดสี่สิบหรือเปล่า พรมน้ำมนต์เลย
พรมเสร็จก็เรียกว่ามันยังไม่ถึงเวลา
แต่ว่าก็พรมเรียบร้อยแล้วเลยบอกให้รู้ด้วยว่า
มันไม่ดีที่เวลามันดีที่เธอทั้งสองทำดี
ถ้าอยู่ด้วยกันด้วยความรักต่อกันมีคุณธรรมประจำจิตใจ มันก็อยู่กันเรียบร้อย
แต่ถ้าแต่งกันฤกษ์ดีแต่ถ้าไม่รักกันมันก็อยู่กันไม่ได้
หรือว่าจิตใจไม่ได้ปรับปรุงในทางธรรมะ ไม่มีความเชื่อ ไม่มีศีล ไม่มีปัญญา
ไม่มีความเสียสละต่อกัน มันก็อยู่กันไม่ได้ พูดให้เข้าใจเรื่องอย่างนั้น
แล้วก็พรมน้ำให้ไปตามเรื่องตามราว
ความจริงน้ำมนต์ ไม่ได้ทำคนให้ดีเด่นอะไรขึ้นมาหรอก
แต่ว่าเขาพรมกันตามธรรมเนียมเท่านั้นเองก็อธิบายให้เขาเข้าใจว่า
น้ำนี้พรมแล้วไม่ใช่ว่าเธอจะดีขึ้น
ไม่ใช่มันไม่ดีอะไรแต่ว่าพรมกันตามธรรมเนียมเท่านั้นเอง
ที่ดีนั้นมันอยู่ที่เธอทำดี ชั่วก็อยู่ที่ทำชั่ว
แล้วสิ่งที่ประเสริฐก็คือธรรมะที่ให้ อันนี้วิเศษดีกว่าน้ำในขันเป็นไหนๆ
แต่ที่เขาเอาน้ำใส่ขันมาไว้นี้ก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ
ว่าให้เราอยู่ให้เย็นเหมือนกับน้ำ อย่าทะเลาะเบาะแว้งกัน
ให้รักใคร่สามัคคีกันอย่าแยกออกจากกันทางจิตใจ
ใจที่มันจะไม่แยกก็คือใจที่มีธรรม ถ้าใจไม่มีธรรมมันแยกกัน
ใจโลภใจโกรธใจหลงนี่มันไม่ตรงกัน คนหนึ่งโลภคนหนึ่งมันขัดกันแล้ว
แต่ถ้าใจมีธรรมะมันเหมือนกัน ไม่มีแตกต่างกัน
สิ่งที่เหมือนกันย่อมเข้ากันไม่ได้ อันนี้มันเป็นกฎแห่งความจริง
ของเหมือนกันมันก็เข้ากันได้ไม้เหลี่ยมกับไม้เหลี่ยมเอามาซ้อนกันเรียบร้อย
แต่งเอาไม้กลมมาซ้อนบนไม้เหลี่ยมมันเก้งก้าง อย่างนั้นไม้ซื่อกันไม้คด
เอามากองรวมกันแล้วมันไม่เรียบร้อย มีนมีรูมีช่องเยอะแยะ อันนั้นมันคด
แต่ถ้าซื่อทั้งหมดแล้วกองเรียบร้อยสวยงาม
| หน้าถัดไป >>
มองทุกให้เห็นจึงเป็นสุข
ทุกข์ซ้อนทุกข์
ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย
วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่
มันเป็นเช่นนั้นเอง
ศีลธรรมและสัจจธรรม
แหล่งเกิดความทุกข์
องค์สามของความดี
หลักใจ
ทำดีเสียก่อนตาย
ตามรอยพุทธบาท
ฐานของชีวิต
ความพอใจเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง
ชั่งหัวมัน
อนัตตาพาสุขใจ
ฤกษ์ยามที่ดี
อดีต ปัจจุบัน อนาคต
วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า
สำนึกสร้างปัญญา
สอนลูกให้ถูกวิธี
ปฏิวัติภายนอกกับภายใน
ร้อนกายไม่ร้อนใจ
อย่าโง่กันนักเลย
การทำศพแบบประหยัด
คนดีที่โลกนับถือ
ความจริงอันประเสริฐ
เสรีต้องมีธรรม
ทาน-บริจาค
เกียรติคุณของพระธรรม
เกียรติคุณของพระธรรม (2)
พักกาย พักใจ
เกิดดับ
การพึ่งธรรม
อยู่ด้วยความพอใจไม่มีทุกข์
มรดกธรรม
ฝึกสติปัญญาปัญหาไม่มี
ทำให้ถูกธรรม
วางไม่เป็นเย็นไม่ได้