ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร


ธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา

ความจริงอันประเสริฐ

วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2520

ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย

ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรม อันเป็นหลักคำสอนทั้งหลาย ของให้ทุกท่านอยู่ในการการสงบ ตั้งอกตั้งใจด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา

เมื่อวานนี้เป็นวันพระกลางเดือนแปด เป็นวันอาสาฬหะบูชา ที่ได้เรียกว่า อาสาฬหะบูชา ก็เพราะว่าเป็นวันคล้ายกับที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ที่ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เมืองพาราณสี เราจึงถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ในทางพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระองค์ได้เปิดโลกให้สว่างด้วยปัญญา ให้โลกได้เกิดความรู้ความเข้าใจในข้อปฏิบัติ อันจะทำตนให้พ้นไปจากความทุกข์ความเดือดร้อน วันเช่นนี้ จึงเป็นวันสำคัญมาก คำเทศนาครั้งแรกของศาสดาทั้งหลาย เขาถือกันว่าเป็นเรื่องสำคัญ ในศาสนาคริสเตียนนั้นเขาถือว่า คำเทศนาบนภูเขาของพระเยซูนี่เป็นเรื่องสำคัญ เขามักจะอวดกันอยู่บ่อยๆมักจะถามใครๆ ว่าได้อ่านหรือเปล่า

คราวหนึ่งฝรั่งถามสวามี อินเดียคนหนึ่ง ว่าท่านอ่านเทศน์บนภูเขาของเยซูคริสต์หรือเปล่า สวามีคนนั้นแกตอบว่า อ่านแล้ว เขาถามว่า อ่านแล้วรู้สึกว่าอย่างไร สวามีคนนั้นตอบว่า พระพุทธเจ้า ท่านเทศน์มาก่อนตั้งห้าร้อยปี ความจริงคำเทศน์ของพระเยซูกับของพระพุทธเจ้านั้นคนละเรื่อง แต่ว่าที่เขาตอบเช่นนั้นเพื่อแสดงว่าคำเทศนาของพระพุทธเจ้า นั้นลึกซึ้งกว่ามีแนวคิดในทางที่จะหลุดพ้น จากความทุกข์ความเดือดร้อนมากกว่า เขาจึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เราผู้นับถือพระพุทธศาสนาก็ถือว่า คำเทศนาของพระพุทธเจ้านี้ก็สำคัญเหมือนกัน เมื่อไปเที่ยวประเทศตะวันตกหลายปีมาแล้ว ฝรั่งเขาถามว่าพวกมหายาน เขานับถือพระสูตรบางพระสูตรว่าเป็นหลักในนิกายของเขา ถามว่าพวกเราฝ่ายเถรวาท นับถือพระสูตรใดว่าเป็นสำคัญ ก็เลยตอบเขาว่า ธรรมจักกัปปวัตนสูตรซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสูตรหนึ่ง ในทางพระพุทธศาสนาเราควรจะได้ศึกษาข้อความในพระสูตรนี้ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ จะได้รู้จักพระพุทธศาสนาชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้น

เริ่มต้นในข้อความพระสูตรนั้น พระองค์ได้ตรัสกับปัญจวัคคีย์ คือพวกนักบวชชุดห้ารูป ปัญจวัคคีย์นี้เป็นผู้เคยร่วมบำเพ็ญเพียร แบบโยคะมาด้วยกันกับพระองค์ แต่ภายหลังเมื่อพระองค์เลิกบำเพ็ญเพียรแบบนั้นเพราะเห็นว่าไม่ใช่ทางที่จะตรัสรู้ความจริง ไม่ใช่ทางที่จะทำตนให้พ้นจากความทุกข์อย่างเด็ดขาด แม้ได้ปฏิบัติถึงขั้นสูงสุดแล้ว ก็ยังไม่หมดความทุกข์ความเดือดร้อนจึงควรจะคิดหาทางใหม่ต่อไป จึงได้เลิกจากทางนั้นมาหาทางใหม่ อันนี้นับว่าเป็นตัวอย่างแก่ชีวิตของเราทั้งหลายคือว่าเราอย่าไปยึดมั่นในเรื่องอะไรๆ ให้มันมากเกินไปควรจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างในเรื่องที่ควรเปลี่ยนแปลงถ้าไปยึดอะไรมันเกินไปแต่มันไม่เกิดประโยชน์ ก็เป็นการยึดที่เหนื่อยเปล่า พระพุทธเจ้าของเรานั้น พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงได้ไม่มีทิฏฐิมานะในเรื่องอะไร  ๆ ได้เคยปฏิบัติในทางโน้นมาก่อน แต่มองเห็นว่าไม่ใช่ทางที่จะพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนแท้จริง พระองค์ก็เปลี่ยนวิถีทางใหม่

สมมติว่าพระองค์ยึดมั่นอยู่ในแนวทางนั้นดื้อรั้นกระทำไป แล้วไม่สำเร็จก็ตายเปล่าการออกบวชของพระองค์ที่จะเป็นประโยชน์ แก่ชาวโลกนั้น ก็ไม่สมความตั้งใจ ที่ได้สำเร็จสมความตั้งใจก็เพราะว่าทรงเปลี่ยนในสิ่งที่เห็นว่าไม่ได้ประโยชน์ แล้วก็ทำในแนวอื่นต่อไป คนเราในยุคปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน ไม่ควรจะมีทิฏฐิยึดมั่นในเรื่องอะไรๆ ให้มากเกินไปเมื่อเห็นว่าเราเคยทำอะไรมาก่อน แต่ว่ามันไม่ได้ประโยชน์ก็ควรจะเปลี่ยนแนวทางเปลี่ยนเข็ม เพื่อไปกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อไป อย่าไปคิดด้วยทิฏฐิมานะว่า ฉันจะไปของฉันอย่างนี้ ใครอย่ามาขอร้องฉันเลย ฉันจะเดินทางนี้จนหมดลมหายใจ ถ้าเดินไปแล้วมันไม่ได้ประโยชน์ขืนเดินไปทำไป ตายเปล่าๆไม่ได้เรื่องอะไร อันนี้เป็นประโยชน์แนวคิดแก่พวกเราอยู่เหมือนกัน

เมื่อพระองค์ได้เปลี่ยนทางเดิน ปัญจวัคคีย์ทั้งห้าเป็นพวกถือมั่น เชื่อว่าการปฏิบัติตามแบบโยคะเก่าๆนั่นแหละจะช่วยให้ตนหลุดพ้นจากความทุกข์ ครั้นเห็นพระองค์เลิกจากการกระทำเช่นนั้นเสีย ก็นึกว่าพระโคดมนี่อ่อนแอ ขาดความอดทน ไม่มีเข็มชีวิต ไม่แน่นอน เลยก็ทิ้งพระองค์ไปเสีย ไปอยู่ที่เมืองพาราณสีโน้น ก็เหมาะอยู่เหมือนกัน เพราะในการบำเพ็ญเพียรวิธีใหม่นี้ ไม่อยากจะให้ใครมายุ่งกับพระองค์พระองค์ต้องการอยู่เงียบๆ ต้องการใช้สมาธิอย่างสูง เพื่อใช้คิดค้นธรรมะต่อไป พวกนั้นหลีกไปเสียก็นับว่าเปิดโอกาส ให้พระองค์ได้ก้าวหน้า ในความเพียรรูปใหม่ต่อไป และผลสุดท้ายก็ได้สำเร็จเป็น พระพุทธเจ้า

ครั้นเมื่อสำเร็จแล้วก็ได้คิดถึงท่านเหล่านั้น ว่า เป็นผู้มีศรัทธา มีศีลมีปัญญา มีความเพียร พอสมควรเป็นพื้นฐานแห่งการที่จะพ้นทุกข์ได้ควรจะนำเรื่องนี้ไปสอนดู ว่าเขาจะเข้าใจหรือไม่ เลยตัดสินพระทัยเดินทางบุกขึ้นเหนือ คือไปที่พาราณสี แล้วก็ไปพบกันท่านทั้งห้า ครั้งแรกก็เถียงกันนิดหน่อย เพราะพวกนั้นไม่ยอมฟัง แต่ผลที่สุดก็ยอมเรียบร้อย เลยพากันไปในที่เหมาะแห่งหนึ่ง ซึ่งเดี๋ยวนี้เขาได้ทำอะไรไว้เป็นเครื่องหมายอย่างมั่นคงถาวรเพื่อให้คนชั้นหลังได้รู้ว่า พระพุทธเจ้านั่งเทศน์ตรงนี้เป็นครั้งแรกสถานที่นั้นจึงเป็นสถานที่จึงเป็นสถานที่ควรแก่การเคารพสักการะของพุทธบริษัท เรียกว่า เป็นสังเวชนียสถาน ในสังเวชนียสถานสี่ประการ

เมื่อพระองค์ไปประทับนั่งเรียบร้อยท่านเหล่านั้นก็พร้อมที่จะฟัง พระองค์ก็เทศน์ให้เขาเหล่านั้นฟังเรื่องแรกที่เทศน์ให้ฟังก็คือ ห้ามการปฏิบัติสองแนว อันเป็นการปฏิบัติที่เสียเวลา ทำให้ไม่บรรลุมรรคผลสองแนวที่ห้ามนั้นเรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถายุโยค พูดอย่างนี้โยมฟังก็คงจะไม่เข้าใจพูดง่ายๆ ว่า ทางหนึ่งหนึ่งนั้นหย่อนเกินไป อีกทางหนึ่งนั้นตึงเกินไป ทางที่หย่อนเกินไปนั้น เป็นทางหมกมุ่นมัวเมาอยู่ในกาม คือในยุคก่อนพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น พวกฤษีชีไพร แม้ไปอยู่ในป่า ปฏิบัติตนเป็นฤษี แต่ยังมีครอบครัว มีลูกเต้า ยังมีปัญหาอะไรหลายอย่าง หลายประการ อย่างนี้ เรียกว่า หย่อนเกินไป เหมือนกับไม้สด เอาไปแช่ไว้ในน้ำ บุรุษผู้ต้องการไฟ ไปเก็บเอาไม้นั้นมาสี เพื่อต้องการให้เกิดไฟ เหงื่อไหลไคลย้อยเสียเปล่าๆ ไม่สามารถจะสีให้เกิดไฟได้ เพราะไม้นั้นยังสด แล้วก็ยังแช่อยู่ในน้ำนั้นด้วย ไม่เกิดประโยชน์ พระองค์ก็ทรงห้ามเรื่องนี้

ปัญจวัคคีย์นั้นไม่ได้ปฏิบัติในทางนั้นอยู่แล้ว เมื่อได้ฟังพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามทางนั้น ก็รู้สึกสนใจ สนใจที่จะฟังต่อไป เพราะว่าสิ่งที่ไม่ให้ปฏิบัตินั้น ตรงกับความคิดของท่านเหล่านั้น อันนี้เราจะเห็นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงใช้หลักจิตวิทยาเหมือนกัน คือใช้จิตวิทยาในการพูด เพื่อให้คนสนใจในการฟัง คือพูดเรื่องที่เขาไม่ปฏิบัติ เขาไม่กระทำกันอยู่ ก็เข้ากันได้กับของเดิมตรงกับนิสัย ว่าอย่างนั้น ก็เกิดความสนใจ มีอารมณ์ร่วมเกิดเป็นพวกเดียวกันขึ้นมา แล้วก็ตั้งใจว่า จะว่าอะไรต่อไป แล้วพระองค์ก็ประกาศห้ามอันที่สองว่า อัตตกิลมถานุโยค การปฏิบัติตนให้ลำบากเหนื่อยเปล่าๆ ก็มิใช่ทางที่จะทำตนให้ถึงความพ้นทุกข์อย่างเด็ดขาด พอพูดออกไปอย่างนี้ ปัญจวัคคีย์ทั้งห้าก็เกิดความสนใจ ทางนี้เราเคยปฏิบัติอยู่นี่นา พระองค์ก็ห้าม ว่าไม่ใช่ทางที่จะปฏิบัติ แล้วมันจะมีอะไรที่ใหม่ไปกว่านี้อีกเล่า เกิดความสนใจใหญ่ ในการที่จะเรียนรู้ การสอนคนต้องสร้างความสนใจ ให้คนฟังเกิดความพอใจที่จะฟัง เขาก็จะเป็นคนตื่นอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะฟังเรื่องที่จะพูดให้ฟัง

พระผู้มีพระภาคท่านมีวิธีการ ที่จะทำคนฟังให้ตื่นตัว พร้อมที่จะรับฟังต่อไป จึงได้ประกาศอย่างนั้นแล้วก็ประกาศทางสายใหม่ ให้ท่านเหล่านั้นมีความเข้าใจว่า เป็นทางเอกทางเดียว ไม่ตึงไม่หย่อนไป มันเข้ากลางๆ พอดี เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า การปฏิบัติกลางๆ ได้แก่มรรคมีองค์แปด เวลาพูดถึงธรรมข้อนี้ ต้องพูดให้เต็มคำ ให้เต็มเรื่องอย่าไปถอดเสีย เช่น พูดว่า มรรคแปดนี่เสียความ ต้องพูดว่ามรรคมีองค์แปด จึงจะเรียกว่า สมบูรณ์แบบ หรือจะให้สมบูรณ์มากกว่านั้น ก็ต้องพูดว่า อริยมรรคมีองค์แปด คือทางอันประกอบด้วยองค์แปดประการ เป็นทางของพระอริยเจ้า หรือเป็นทางที่จะทำบุคคลผู้ปฏิบัตืให้ถึงความเป็นอริยะอย่างแท้จริง มรรคมีองค์แปดนั้นประกอบขึ้นด้วย สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความคิดชอบ สัมมาวาจา การพูดชอบ สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะ ความเพียรพยายามชอบ สัมมาสติ ความระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ รวมเป็นเรื่องแปดประการด้วยกัน เอามารวมกันเข้าเป็นทางสายเดียว เป็นทางเอก เป็นทางกลางเป็นทางที่จะทำผู้ปฏิบัติ ให้ไปถึงจุดหมาย คือความพ้นทุกข์ พ้นร้อนอย่างเด็ดขาด นี่เป็นการประกาศของพระองค์ในตอนที่สอง

ในระยะสามของพระองค์ ประกาศสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสรู้ด้วยปัญญาของพระองค์เอง ซึ่งเราเรียกกันว่า " อริยสัจจ์สี่ " แปลว่า ความจริงอันประเสริฐสี่ประการ เป็นสัจจะ เป็นของจริงแท้ที่มีปรากฏอยู่ ในชีวิตของเราตลอดเวลา อริยสัจจ์สี่ประการนั้น ประกอบด้วย หนึ่ง ทุกขอริยสัจจ์ ความจริงอันประเสริฐคือความทุกข์ สอง สมุทยอริยสัจจ์ ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์ขึ้นมา สาม นิโรธอริยสัจจ์ความจริงคือการดับทุกข์ได้ สี่ นิโรธคามินี ปฏิปทาอริยสัจจ์ ความจริงคือข้อปฏิบัติที่จะเป็นทางให้เกิดความพ้นทุกข์ นี่เป็นสิ่งที่พระองค์นำมาประกาศแก่ท่านเหล่านั้น ในวันนั้น เป็นการประกาศพระพุทธศาสนาตัวแท้ตัวจริง ให้ปรากฏแก่โลก เรื่องนี้ไม่มีใครเคยพูดเคยสอนกันมาก่อน

แม้ว่าจะมีครู มีอาจารย์มากมายในประเทศอินเดีย ก่อนยุคพระพุทธเจ้า แล้วก็มีความคิดแผลงๆ แปลกๆ หลายแง่หลายมุมเรียกว่า เป็นเจ้าลัทธิต่างๆ มีมากมาย แต่ไม่มีเจ้าลัทธิคนใดพูดถึงเรื่องนี้ ไม่มีเจ้าลัทธิคนใด ที่จะมีความรู้ในเรื่องนี้ มามีขึ้นก็ในตอนที่พระพุทธเจ้าของเราเกิดขึ้น แล้วก็พูดเรื่องนี้ออกมา จึงนับว่าเป็นของใหม่ในชีวิตของชาวโลกทั้งหลาย เราทั้งหลายได้รู้เรื่องอย่างนี้แล้ว ก็ควรจะภูมิใจในองค์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ทรงค้นคบสิ่งใหม่ๆ ให้เราได้นำมาปฏิบัติ เพื่อให้ปัดเป่าความทุกข์ ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน

เรื่องของอริยสัจจ์ ทั้งสี่ประการนี้ พูดเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของเราทั้งนั้น พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนเราทั้งหลายในเรื่องอื่น ที่ไกลไปจากชีวิตของเราแต่ละคน ให้ญาติโยมเข้าใจข้อนี้ให้ถูกต้อง ว่าพระองค๎ชี้ลงมาที่ตัวของเรา ไม่ได้สอนไปในที่อื่น เรื่องอื่น ให้เราศึกษาทำความเข้าใจ ในภายในตัวของ เราเอง ดังมีพระพุทธดำรัสไว้ ในตอนหนึ่งว่า " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาย ยาววา หนาคืบ กว้างศอกหนึ่งนี้ เราบัญญัติว่า เป็นโลก " โลกของพระพุทธเจ้านั้นคือ กายยาววา หนาคืบ กว้างศอก ไม่ใช่โลกอันกว้างใหญ่ไพศาล อันเป็นแผ่นดิน แต่ว่าพูดในโลกคือร่างกายของเรา เขาเรียกว่า กรชกายแปลว่า กายที่เกิดจากฟองน้ำ ในกายยาววา หนาคืบ กว้างศอกหนึ่งนี้ มีใจครอง แล้วก็มีเรื่องความทุกข์อยู่ด้วย เหตุให้เกิดทุกข์ ก็อยู่ในนี้ ความดับทุกข์ ก็อยู่ที่นี่ การปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็อยู่ที่นี่ อะไรๆ มันก็อยู่ที่นี่ทั้งนั้น อยู่ในตัวเราทั้งนั้น เราอย่าไปหาให้มันไกลออกไป จะวกวนเสียเวลาเปล่าๆแต่มองหาในตัวเราเอง ให้เห็นในตัวเราเอง ว่ามันมีอะไรเกิดขึ้น มีอะไรตั้งอยู่ และสิ่งนั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้ว มันเกิดอะไรขึ้นในตัวเรา เช่น เกิดความทุกข์ร้อนอกร้อนใจ วิตกกังวลด้วยปัญหาต่างๆ มันก็อยในตัวเรานี้ทั้งนั้น เรื่องนี้สำคัญที่สุด สำหรับการปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์ เพราะปกติคนเราทั่วๆ ไปนั้นเมื่อมีความทุกข์ ความเดือดร้อนเกิดขึ้น ไม่พยายามมองที่ตนเอง แต่ว่าไปมองไกลออกไปที่อื่น

เมื่อเช้านี้ มีโยมไม่เคยมา อยู่คนหนึ่ง มากันสามคน ก็รีบถวายของ บอกว่าปกติก็ฟังทางวิทยุอยู่ทุกวัน แต่ว่าวันนี้ มาพบตัวท่านเสียทีหนึ่ง ได้เห็นหน้าเห็นตากันเสียทีหนึ่ง แล้วก็รีบไป ถามว่าโยมจะไปไหน จะไปวัดเสด็จ ว่าอย่างนั้น เลยถามว่า ไปวัดเสด็จไปทำไม บอกว่าจะไปรดน้ำมนต์เสียหน่อย เขานัดให้ไปโปรดวันนี้เสียด้วย บอกว่ามันเป็นวันสำคัญ นี่เรื่องมันเป็นอย่างนี้ ก็พุ่งไปในทางที่เรียกว่าไม่ตรงเป้าหมาย ต้องการจะไปรดน้ำมนต์ ให้พ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน นี่รายหนึ่ง อีกรายหนึ่ง บอกว่ามีครอบครัวหนึ่งไปหาหมอแล้ว หมอก็ทายว่าจะเสียของรัก แล้วมีลูกอันเป็นที่รัก อยู่คนหนึ่ง ก็ตกอกตกใจต้องรดน้ำมนต์ จนตัวสั่นไปหลายวันแล้ว เพื่อล้างโชคร้าย นี่แหละเขาเรียกว่า เดินผิดทาง ไม่ได้เดินตามเส้นที่ พระพุทธเจ้าขีดให้เดิน ถ้าเปรียบเหมือนคนขับรถ แทนที่จะขับบนเลนบนถนน แต่ไปขับอยู่ในคู่โน่น แล้วรถมันจะไปได้อย่างไร เมื่อลงไปในคู มันก็จอดอยู่ตรงนั้น ไม่มีทางจะไปได้ ในชีวิตเราก็เหมือนกัน เส้นทางที่พระพุทธเจ้าชี้ให้เดิน ไม่เดิน แต่ไปเดินนอกทาง เลยก็ไม่สามารถจะก้าวเดินต่อไปได้

การเดินนอกทางนั้น เดินไม่ได้สำหรับเรื่องที่เกี่ยวกับจิตใจ ต้องเดินตามเส้นทางที่พระองค์ทรงชี้ไว้ให้เดิน ที่ได้เป็นนี้ ก็เพราะไม่เข้าใจหลักข้อนี้ คือไม่เข้าใจว่าอะไรทั้งหมด มันเกิดขึ้นในตัวเรา ไม่ได้เกิดจากที่อื่น เรื่องอื่น การแก้ไขนั้นก็ต้องแก้ที่ตัวเรา การแก้ที่ตัวเรานั้น ไม่ใช่แก้ด้วยการเอาวัตถุภายนอกมาแก้ แต่เราต้องแก้ที่ใจของเรา ความทุกข์มันเกิดที่ใจ ความสุขมันก็เกิดที่ใจ ที่คนไทยเราพูดว่า "สวรรค์ในอก นรกในใจ พระนิพพานอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ใจนั่นแหละ" นี่เขาพูดถูกต้อง พูดเป็นธรรมะแต่ว่าคนฟังอาจจะไม่ได้คิดในข้อนี้ เลยก็ไปเที่ยววิ่งวุ่นหาอะไรจากภายนอก แทนที่จะพบ กลายเป็นไม่เจอสิ่งที่ต้องการ

จึงใคร่ขอแนะนำญาติโยมทั้งหลายว่า พระพุทธเจ้าสอนเรื่องความทุกข์ให้เราเข้าใจ ให้เรารู้ว่า ทุกข์มันอยู่ในตัวเรา ไม่ใช่อยู่ที่อื่น เราก็ต้องแก้ที่ตัวเรา จะยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ในเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ ในชีวิตประจำวัน เราเป็นทุกข์ เรากลุ้มใจ ด้วยปัญหาอะไรก็ตาม ปัญหาในครอบครัวนั่นแหละ ที่มันยุ่งกันนักหนา เป็นทุกข์เรื่องพ่อบ้าน เรื่องแม่บ้าน เป็นทุกข์เรื่องลูกหลาน ลูกหลานไม่เหมือนใจ ไม่เชื่อ ไม่ฟัง ทำอย่างนั้นก็ไม่ได้ เขาจะทำตามใจเขา แต่ว่าเอาจากคุณแม่ทั้งนั้น นี้เป็นตัวอย่าง คุณแม่กลุ้มใจในเรื่องปัญหาอย่างนี้ มีความทุกข์ ทีนี้เรามีความทุกข์ ก็อาจจะไปโทษคนอื่นคืออาจจะไปโทษว่า ลูกมันไม่ดี ทำให้แม่มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ หรือว่าคนนั้นไม่ดี ทำให้เรามีความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ การไปโทษเขาอย่างนี้ ไม่ใช่ทางที่จะดับทุกข์ได้ คือการแก้ความทุกข์ด้วยการโทษคนอื่นนั้น มันแก้ไม่ได้ ทีนี้เราจะโทษใคร เราก็ควรจะโทษตัวเราเอง

เรื่องโทษตัวเอง มันเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่เรื่องผิวเผิน ถ้าคิดแต่เพียงผิวเผินแล้ว มันไม่ได้หรอก แต่ต้องคิดให้ลึกซึ้งลงไปว่า เราเป็นทุกข์นั่นเพราะอะไร ทำไมจึงได้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนในหลักของพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับความทุกข์ สอนให้เรามีความเข้าใจว่าอวิชชา คือความไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องนั้นตามสภาพตามเป็นจริง เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน แล้วก็เมื่อ อวิชชาเกิดขึ้นแล้ว มันต้องมีตัณหา คือความอยากอย่างนั้น อย่างนี้ เกิดขึ้นตามมา ก็เป็นเหตุเกิดความทุกข์ความเดือดร้อน เมื่อมีความทุกข์ ความเดือดร้อนแล้ว ก็มีอุปาทานอยู่ในเรื่องนั้น จับมันไว้ไม่ปล่อยไม่วาง ยึดมั่นถือมั่นอยู่ ในเรื่องนั้นอยู่ตลอดเวลา นี่เรียกว่าอุปาทาน อุปทานก็คือการคิดถึงบ่อยๆ ในเรื่องที่ทำให้เรากลุ้มใจ เช่นลูกทำให้เรากลุ้มใจ ทำให้เราไม่สบายใจ เราก็นึกถึงลูกคนนั้น ลูกคนอื่น เอาคนที่มันยุ่งนั่นแหละ เอามานั่งคิดนั่งนึกอยู่คนเดียว คิดให้กลุ้มใจ คล้ายๆ กับว่าเราไปนั่งกอดกองไฟ แล้วเราก็พูดว่า แหมร้อนจริงๆ แล้วทำไมไม่ปล่อยกองไฟนั้นออกไปเสียไปนั่งให้มันห่างกองไฟ แล้วมันจะไม่ร้อน ไม่ยอมไป ไม่ยอมห่างกองไฟ

มันคล้ายกับเรื่องศรีธนนชัยที่เขาเล่าว่า คนหนึ่งไปกอดเสาไว้แล้วไม่ปล่อย แล้วพูดว่า กูจะไปอย่างไรๆ เสามันคิดกู ความจริงเสาไม่ได้ติดเรา แต่ว่าเราไปติดเสา คือไปติดเสาไว้แล้วก็ไม่ปล่อย ถ้าทำอย่างนี้มันก็หลุด แต่ว่าไม่ปล่อยก็เลยกลุ้มอยู่อย่างนั้น นี่เรื่องมันเป็นอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้น เรื่องกลุ้มใจของเราทั้งหลาย มันอยู่ที่ตัวเรา ไม่ใช่อยู่ที่คนอื่นแม้คนอื่นเขาจะเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็เพียงแต่อารมณ์เท่านั้น คืออารมณ์ที่มากระทบ อารมณ์ คือสิ่งภายนอก ที่มากระทบอายตนะของเรา มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ที่ใจนั่นแหละสำคัญ ตาเห็นก็ไปอยู่ที่ใจ หูได้ยินก็ไปอยู่ที่ใจ รสก็ไปอยู่ที่ใจ สิ่งใดสัมผัสถูกต้อง มันก็ไปรวมอยู่ที่ใจ ใจเราไปเกาะไปจับฉวยสิ่งนั้นไว้ ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมวาง การไม่ปล่อยวาง ก็คือการคิดในเรื่องนั้นคิดแล้วกลุ้มใจ แต่ว่าไม่เลิกคิด คิดอยู่ตลอดเวลา นี่มันเป็นอย่างนี้ จึงได้เกิดปัญหาคือความทุกข์ ความเดือดร้อน เพราะฉะนั้น อย่าไปเที่ยวโทษคนอื่น อย่าไปโทษสิ่งอะไรๆ ทั้งหมด แต่ต้องบอกกับตัวเราเองว่า ฉันมันผิดเอง ที่เอาเรื่องนั้นที่เอาเรื่องนั้นมาคิดไม่เข้าเรื่อง ทีนี้ เราจะคิดอย่างไร

เราก็ต้องหาอุบายที่จะคิดให้มันคายจากความทุกข์ ความเดือดร้อน เช่น ตัวอย่างเรื่องลูกของเรา สมมติว่าอย่างนั้นลูกทำให้เรากลุ้มใจ เราก็ต้องคิดว่าลูกเรา นี่มันเป็นลูกเราจริงๆ หรือไม่ มันอยู่ในอานาจของเราหรือไม่ พระพุทธเจ้าสอนเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันเป็นเรื่อง สัจจะ เป็นเรื่องความจริงแท้ ให้เราได้ยินได้ฟัง ว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เรื่องไม่เที่ยง ถ้าคิดแล้วมันเห็นง่ายๆ เรื่องเป็นทุกข์ ก็เห็นง่ายๆ แต่เรื่องอนัตตานี้ต้องใช้ปัญญาสักหน่อย ต้องคิดอย่างละเอียดอย่างรอบคอบว่า มันเป็นอนัตตาอย่างไร เช่นร่างกายของเรานี่ เราห้ามได้ไหม ให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ดังใจไหม มันก็ไม่ได้ ประเดี๋ยวเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

แม้คุณหมอก็ยังป่วยได้ เมื่อวานนี้พบหมอคนหนึ่ง ไม่ได้พบกันมานานแล้ว เลยถามว่า หายไปไหน เจริญพร เดินไม่ไหวแล้ว ต้องไปฝากตัวให้หมอรักษา ตัวเป็นก็ต้องยังต้องไปฝากตัว ให้หมอรักษาอีกทีหนึ่ง อาตมาฟังแล้วก็นึกขำในใจว่า เออ เรานี้เป็นหมอแท้ๆ แต่ต้องไปฝากตัวให้หมออื่นรักษา รักษาตัวเองไม่ได้นี่แหละมัน อนัตตา หมอเองรักษาหมอไม่ได้ รักษาคนอื่นได้ แต่ว่ารักษาตนเองไม่ได้ ต้องไปให้หมออื่นรักษาต้องเช็คบ่อยๆ พอแกพูดเช่นนั้น ก็มองเห็นว่านี่แหละ มันอนัตตา เลยบอกว่า นี่แหละมันตัวอนัตตาละ มันไม่ใช่ของเรา เรามีความรู้ มีความเข้าใจในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ เอาเข็มไปแทงกล้ามคนอื่นมาเสียมากแล้ว แต่พอเจ็บเข้าบ้าง เอาไม่ได้ รักษาไม่ได้ เป็นอนัตตา ว่าไม่ฟัง มันเปลี่ยนของมันไปตามเรื่อง เป็นเรื่องธรรมชาติ

เราจะไปบอกผมว่า แกอย่าหงอกนะได้ไหม แม้เอายาย้อมไว้ ก็อย่างนั้นแหละ เนื้อข้างในมันก็ยังหงอกอยู่นั่นเอง เห็นแต่ข้างนอกย้อมไว้ เพื่อหลอกเพื่อนไปชั่วคราว หลอกตัวเองด้วย แต่ว่าเนอแท้ ก็ยังหลอกอยู่นั่นแหละ ฟันอย่าหลุด มันก็ต้องหลุดอยู่นั่นแหละ ถึงเวลามันก็ต้องหลุดไป ทีละซี่ สองซี่ผลที่สุดก็หนดปาก หนังก็ต้องเหี่ยวต้องแห้งไปตามเรื่อง ทุกส่วนในร่างกายนี้ ห้ามอะไรได้บ้าง ไม่ได้ มันจะปวดเข่า บอกว่าแกอย่าปวด ถ้าพูดได้ มันก็จะพูดว่า ข้าจะปวดของข้า แล้วแกจะว่าอะไร เรื่องของข้า มันก็ปวดไปตามเรื่องของเข่า ปวดขาปวดแข้งมันก็เป็นไปตามเรื่อง ห้ามไม่ได้ว่า ไม่ฟัง กินยูกกินยาก็กินกันไปอย่างนั้นแหละ บางทีค่อยยังชั่ว บางทีไม่ได้เรื่องอะไร นี่มันเป็นอย่างนี้ เรื่องในตัวแท้ๆ ยังว่ากันไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ แล้วของนอกตัว จะไปว่ากันอย่างไร เช่น ลูกเรา ภรรยาเรา หลานเรา คนใช้ของเรา อะไรอย่างนี้ มันไม่อยู่ ในวิสัยที่เราจะบังคับเขาได้เสมอไป แล้วเมื่อเราบังคับเขาไม่ได้ ว่าเขาไม่ฟัง แล้วเรามานั่งกลุ้มใจ มันเรื่องอะไร นี่แหละเขาเรียกว่า ลงโทษตัวเอง ไม่ได้เรื่องอะไรเป็นทุกข์ไปเปล่าๆ จึงใครขอแนะนำว่า อย่าเป็นทุกข์ในเรื่องอย่างนั้น อย่าหาความทุกข์มาใสใจเราแต่เรานึกว่า มันเรื่องของเขา

 | หน้าถัดไป >>


มองทุกให้เห็นจึงเป็นสุข
ทุกข์ซ้อนทุกข์
ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย
วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่
มันเป็นเช่นนั้นเอง
ศีลธรรมและสัจจธรรม
แหล่งเกิดความทุกข์
องค์สามของความดี
หลักใจ
ทำดีเสียก่อนตาย
ตามรอยพุทธบาท
ฐานของชีวิต
ความพอใจเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง
ชั่งหัวมัน
อนัตตาพาสุขใจ
ฤกษ์ยามที่ดี
อดีต ปัจจุบัน อนาคต
วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า
สำนึกสร้างปัญญา
สอนลูกให้ถูกวิธี
ปฏิวัติภายนอกกับภายใน
ร้อนกายไม่ร้อนใจ
อย่าโง่กันนักเลย
การทำศพแบบประหยัด
คนดีที่โลกนับถือ
ความจริงอันประเสริฐ
เสรีต้องมีธรรม
ทาน-บริจาค
เกียรติคุณของพระธรรม
เกียรติคุณของพระธรรม (2)
พักกาย พักใจ
เกิดดับ
การพึ่งธรรม
อยู่ด้วยความพอใจไม่มีทุกข์
มรดกธรรม
ฝึกสติปัญญาปัญหาไม่มี
ทำให้ถูกธรรม
วางไม่เป็นเย็นไม่ได้

แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย

» ชาร์ลส์ ดาร์วิน
ชาร์ลส์ ดาร์วิน เป็นผู้มีบทบาทนำให้เกิดการศึกษาค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการมากที่สุด ดาร์วินเสนอควาามคิดเกี่ยวกับการคัดเลือกโดยธรรมชาติ

» สงครามครูเสด (THE CRUSADES)
ดินแดนปาเลสไตน์ อันเป็นถิ่นกำเนิดของ พระเยซูไครสท์นั้นถือกันว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งคริสต์ศาสนิกชน พากันไปจาริกแสวงบุญ ตั้งแต่ต้นคริสตกาล

» อาริสโตเติ้ล
อาริสโตเติ้ลเป็นชาวเมืองสตากีรา (Stagira) บิดารับราชการอยู่ในราชสำนักของพระเจ้าอามินตัส (Amyntas) กษัตริย์แห่งมาเคด็อน (Macedon)

» ยอดมนุษย์
เรื่องราวและชีวิตของพวกเขา บางเรื่องเป็นตำนาน เป็นเรื่องเล่า เป็นความจริง บางคนไร้ตัวตนบางคนล้มเหลว บางคนเป็นต้นแบบ เป็นอาชญากร

» รพินทรนาถฐากูร
หยุดเสียเถิดการสาธยาย การขับขานและการนั่งนับลูกประคำอะไรเหล่านี้ ท่านบูชาผู้ใดกันในมุมสลัวลาง...และเปล่าเปลี่ยวของเทวลัยที่หับบานประตูหน้าต่างมิดชิดรอบด้าน

» ประเทศไทย 77 จังหวัด
ประวัตศาสตร์,ความเป็นมา,ศิลปะ,วัตนธรรม,ประเพณีสถานที่สำคัญ,แหล่งท่องเที่ยว

» สงครามเวียดนาม
เอกราชของขบวนการชาตินิยมเวียดมินห์ ต่อต้านอำนาจของจักรวรรดินิยมเดิมคือ ฝรั่งเศส ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสถอนตัวสหรัฐอเมริกาเข้ามาแทนที่และสนับสนุนเวียดนามใต้

» คาลิล ยิบราน
คาลิล ยิบราน ศิลปินผู้ใฝ่ฝ่ายจิตนิยม เขามักจะเทศนาหลักธรรมะ ด้วยการแสดงออกทางศิลปกรรม